ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความเชื่อมโยงของงานวิจัยแต่ละบท


บทที่ ๑ 

ต้องเริ่มจากประเด็นปัญหาอันมีที่มาหลากหลาย ได้แก่ 
    ๑.ข้อคับข้องใจ 
    ๒.ข้อสงสัย 
    ๓.ข้อสังเกตที่เห็นว่าปรากฏการณ์นั้นผิดแปลกไป 
    ๔.ข้อกังวล 
    ๕.ความอยากรู้ 
    ๖.ปัญหาที่ต้องการแสวงหาแนวทางการแก้ไข ฯลฯ

อีกทั้งแหล่งที่มาของปัญหาอาจมาจาก 
    ๑.สถานที่ทำงาน 
    ๒.สถานที่อยู่อาศัย 
    ๓.ประเด็นความสนใจทางสังคม 
    ๔.สื่อมวลชน 
    ๕.บุคคลใกล้ชิด

            จากประเด็นเหล่านี้ก็จะนำมาพัฒนาเรียบเรียงเป็น ที่มาและความสำคัญของปัญหา โดยบางสถานศึกษามักให้นำเอาประเด็นเหล่านี้มาสรุปสั้นๆ เป็นคำถามวิจัยไว้ด้วย เพื่อสะดวกแก่ผู้สนใจจะได้ไม่ต้องอ่านที่มาอันยืดยาวและได้ความชัดเจนว่าผู้วิจัยมีคำถามอะไรอยู่ในใจบ้าง
เมื่อคำถามเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นแล้วย่อมสามารถทำให้นำไปสู่ประเด็นต่อไปในบทที่ ๑ ได้ง่ายขึ้นซึ่งหมายถึงการตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัย
การกำหนดวัตถุประสงค์นี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึง 

หลักการสำคัญก็คือ 
๑.วัตถุประสงค์ต้องมีความชัดเจนว่าต้องการศึกษาอะไร กับใคร ที่ไหน ในช่วงระยะเวลาใด 
๒.วัตถุประสงค์ต้องสอดคล้องกับชื่อเรื่องและประเด็นปัญหา รวมทั้งสมมติฐาน 
๓.วัตถุประสงค์ต้องสามารถวัดผลออกมาได้ เพราะหากวัดไม่ได้ย่อมทำให้วัตถุประสงค์นั้นไม่ตอบคำถามการวิจัยตามไปด้วย ทั้งนี้โดยมากการเขียนวัตถุประสงค์มักเริ่มต้นด้วยคำว่า เพื่อศึกษา...... เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของงานวิจัย เนื่องจากผลการวิจัยทั้งหมดต้องตอบโจทย์คำถามที่ซ่อนอยู่ในวัตถุประสงค์

ประเด็นต่อมาคือ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งเป็นข้อบ่งบอกว่างานวิจัยที่ทำอยู่นั้นมีคุณค่าอย่างไร โดยมากงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทมักเน้นการพิสูจน์ทฤษฎีกับปรากฏการณ์ว่ามีความสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ หรืองานวิจัยนั้นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อในองค์กรหรือผู้สนใจอื่นๆ ได้หรือไม่ ส่วนงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกมักเน้นการสร้างแนวคิด ทฤษฎี ข้อสรุปทั่วไปขึ้นใหม่ หรือเป็นการถกแย้งกรอบความคิดเดิมๆ ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร หรืองานวิจัยบางเรื่องมีส่วนเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางสาขาวิชาต่างๆ เป็นต้น  
ส่วนขอบเขตของการวิจัย หรือในบางครั้งอาจเรียกว่า ข้อจำกัดของการวิจัย หรือ ข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัยก็ตาม มักเป็นช่องทางแห่งโอกาสที่ผู้วิจัยจะได้บอกกล่าวแก่ผู้สนใจงานวิจัยว่า งานการศึกษานี้ มีปัญหาอย่างไรบ้างในการศึกษา โดยมากมักกล่าวถึง ๑.ช่วงระยะเวลาที่ศึกษา ๒.กลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา และ ๓.ข้อจำกัดอื่นๆ เช่น เงินทุนในการศึกษา ขอบเขตของเนื้อหาที่อาจมีมากจนไม่สามารถศึกษาได้ในครั้งนี้ทั้งหมด ปัญหาในการจัดเก็บข้อมูล และเหตุจำเป็นอื่นๆ ที่อาจทำให้ผลการศึกษาอาจไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในประเด็นของสมมติฐานการวิจัยนั้น ความสำคัญของสมมติฐานก็คือ สมมติฐานการวิจัยนั้นถือเป็นประเด็นที่ต้องนำไปทดสอบเพื่อแสวงหาคำตอบอย่างเป็นระบบ หรือเป็นการพิสูจน์เพื่อยืนยันจนทำให้เข้าใจได้ว่าวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้นได้คำตอบออกมาอย่างไร แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า เป็นสิ่งที่ยากแก่การเขียนในเบื้องต้นหรือในบทที่ ๑ เพราะเหตุว่า ๑.งานวิจัยบางเรื่องอาจไม่มีสมมติฐานก็ได้ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมุ่งแสวงหาคำตอบจากการทบทวนวรรณกรรมและการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการหลักฐานอ้างอิงต่างๆ การกำหนดสมมติฐานจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นนัก และ๒.การตั้งสมมติฐานให้เกิดขึ้นได้ต้องมาจากตัวแปรที่ผ่านการทบทวนวรรณกรรมหรือแนวคิด ทฤษฎี ที่ชัดเจนแล้ว ถ้าตัวแปรที่กำหนดขึ้นมาไม่มีความชัดเจนเพียงพอย่อมมีผลให้การจัดทำเครื่องมือในการศึกษามีปัญหาตามไปด้วย ขณะเดียวกันผลของการวัดหรือทดสอบสมมติฐานก็ไม่อาจจะตอบวัตถุประสงค์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้การทำวิจัยนั้นยากจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นสมมติฐานการวิจัยจึงควรอยู่ในท้ายบทที่ ๒ มากกว่า แต่ถ้าหากต้องการให้ผู้สนใจงานวิจัยสะดวกในการอ่านก็อาจเพิ่มประเด็นนี้ไว้ในท้ายบทที่ ๑ และในช่วงสรุปและอภิปรายผลในบทที่ ๕ ก็ได้ แต่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า สมมติฐานต้องมาการทบทวนวรรณกรรมจนได้ตัวแปรที่ชัดเจนแล้ว เป็นสำคัญ
 
              ส่วนนิยามศัพท์ ซึ่งเป็นการให้ความหมายเฉพาะแก่คำที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนั้นๆ คำศัพท์ที่จะนิยามหรือให้ความหมายควรตระหนักว่า ๑.เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะที่สื่อความหมายเดียวกันทั้งงานวิจัย เช่น ใช้คำว่า องค์กรการเมือง หมายถึง คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งไม่ได้รวมถึง ศาล เป็นต้น ๒.เป็นคำที่สรุปเนื้อหาสำคัญหรือแนวคิด ทฤษฎี เฉพาะที่ใช้ในงานวิจัยนี้เท่านั้น เช่น ให้ความหมายของคำว่า คนดี หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่น


อยู่เสมอ ด้วยความเต็มใจ และความจริงใจ ซึ่งความหมายเหล่านี้มาจากการทบทวนแนวคิดทฤษฎีของนักคิด นักวิชาการต่างๆ ในบทที่ ๒ จนกระทั่งผู้วิจัยเห็นและเข้าใจว่าลักษณะของคนดีคืออะไร ด้วยเหตุนี้การทบทวนวรรณกรรมย่อมสามารถทำให้ผู้วิจัยสามารถกำหนดนิยามศัพท์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่องานวิจัยได้ โดยเฉพาะต่อการแปลงความหมายของนิยามศัพท์ไปทำแบบสอบถาม (สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ “quantitative research”) หรือแบบสัมภาษณ์ (สำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพ “qualitative research”)
นอกจากนี้ การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องใน บทที่ ๒ ซึ่งเป็นการพิจารณาเพื่อสรุปแนวคิด ทฤษฎี หลักการต่างๆ ทั้งจากตำรา หนังสือ เอกสาร งานการศึกษา บทความวิชาการ รวมทั้งงานวิจัยต่างๆ เป็นต้น ข้อดีของการอ่านและสรุปแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ อย่างรอบด้านทั่วถึงและรอบคอบ ย่อมมีผลให้ ๑.สามารถนิยามศัพท์ได้อย่างชัดเจน ๒.ทราบถึงชุดตัวแปรต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ (independent variable) กับตัวแปรตาม (dependent variable) ๓.มีข้อมูลด้านทฤษฎีสำหรับวิเคราะห์ตัวแปรที่ใช้ในการพิสูจน์หรือเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ และข้อมูลด้านงานวิจัยต่างๆ ไว้เปรียบเทียบกับผลการวิจัยของผู้วิจัย ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมที่ต้องทำในบทที่ ๒ จึงถือเป็นขุมทรัพย์หรือทรัพยากรสำคัญของการแสวงหาคำตอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยระดับชั้นปริญญาเอก การทบทวนวรรณกรรมจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างตัวแบบ (model) ซึ่งจะถูกนำไปพิสูจน์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดหรือข้อสรุปทั่วไป และอาจถือเป็นการสร้างทฤษฎีขึ้นอีกทางหนึ่งก็ได้
ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่หลายสถาบันการศึกษามักกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย (หัวข้อนี้พบว่าสถานศึกษาบางแห่งเอาไปไว้ในท้ายบทที่๑) ไว้ท้ายบทที่ ๒ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าหลังการทบทวนวรรณกรรมแล้วนั้นได้ตัวแปรอะไรมาบ้าง ซึ่งตัวแปรเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญสำหรับการตอบประเด็นปัญหาที่แฝงอยู่ในวัตถุประสงค์การวิจัย กรอบแนวคิดจึงเป็นที่แสดงถึงชุดตัวแปรต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระกับตัวแปรตามนั่นเอง
สาระสำคัญใน บทที่ ๓ ได้เน้นถึงวิธีการวิจัยและเครื่องมือ โดยวิธีการวิจัยจะเป็นการบ่งบอกว่าศึกษาแนวใด ได้แก่ เชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งแต่ละแนวทางการศึกษาก็จะมีวิธีการแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ เชิงปริมาณจะต้องอาศัยการนำเอานิยามตัวแปรมาสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เรียกว่า แบบสอบถาม (questionnaire)“ เพื่อเอาข้อมูลที่เก็บรวบรวมแล้วมาประมวลผลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพมักเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยอาศัย แบบสัมภาษณ์ (interview)” มาเป็นเครื่องมือ รวมทั้งการค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ
นอกจากนี้กลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยทั้งสองประเภทข้างต้นจึงย่อมแตกต่างกันมาก เพราะโดยทั่วไปหลักการวิจัยเชิงปริมาณมักต้องอาศัยผู้ให้คำตอบจำนวนมากเพื่อให้ได้ค่าสถิติที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ แต่ไม่อาจให้ข้อมูลที่ลึกซึ้งมากนัก เพราะการต้องการระดับความเป็นปรนัยที่สูง แต่ในขณะที่เชิงคุณภาพแม้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกเพราะมีความเป็นอัตนัยสูงกว่าย่อมต้องการกลุ่มผู้ให้ข้อมูล (key informant) จำนวนไม่มากนักหากแต่ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวพัน เข้าใจ หรืออยู่ในปรากฏการณ์ที่รับรู้ความตื้นลึกหนาบางจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดี เพราะฉะนั้นจึงทำให้มองเห็นว่าการวิจัยเชิงปริมาณจึงเน้นการอ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติที่สูงกว่าเชิงคุณภาพ เช่น ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบหาค่าความสัมพันธ์ เป็นต้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการวิจัยเชิงคุณภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเลขหรือข้อมูลทางสถิติเลย หากแต่เป็นการใช้สถิติประเภทข้อมูลขั้นทุติยภูมิที่ผู้อื่นทำไว้แล้วมากกว่า
ในส่วนของ บทที่ ๔ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งโดยทั่วไปหลังการจัดเก็บข้อมูลแล้วนั้นถ้าเป็นการวิจัยเชิงปริมาณมักเริ่มต้นด้วยการพรรณนาข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ อาชีพ สถานภาพทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยในส่วนนี้หากเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพอาจกล่าวถึงบ้างว่าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นใครบ้าง หรือในบางกรณีก็ไม่มีการกล่าวถึงเลย แต่กลับนำเสนอข้อมูลที่เป็นองค์กรต่างๆ หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและมีผลที่จะต้องนำมาใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป ทั้งนี้งานวิจัยเชิงปริมาณยังมักนำเสนอข้อมูลอื่นๆ จากแบบสอบถามต่างๆ ซึ่งถ้าหากให้งานวิจัยลดความสับสนในการนำเสนอนั้นควรนำเสนอประเด็นที่เหลือตามสมมติฐานแต่ละข้อ ซึ่งรายละเอียดด้านตารางนั้น ในสถาบันการศึกษาต่างๆ มักกำหนดรูปแบบขึ้นไว้อย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ซึ่งผู้วิจัยควรศึกษาผ่านคู่มือการทำวิจัยของสถาบันที่ตนเองศึกษาอย่างละเอียด
การวิเคราะห์ข้อมูลในปัจจุบันสำหรับการวิจัยเชิงปริมาณเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้อย่างสะดวกสบายขึ้นด้วยการอิงอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปทางสถิติ แต่ถ้าเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพจำเป็นอย่างยิ่งต้องนำเอาข้อมูลทั้งจากการสัมภาษณ์ การตรวจดูเอกสาร และงานวิจัยต่างๆ มาสังเคราะห์ภายใต้การทำงานที่ขึ้นอยู่กับเหตุผล การวิเคราะห์ควรตั้งประเด็นถกเถียงกันระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือข้อมูลที่สนับสนุนกับข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ทั้งนี้อาจอาศัยการสร้างตารางสรุปเพื่อเปรียบเทียบเข้าช่วย ซึ่งจะทำให้การนำเสนอผลการวิเคราะห์เข้าใจง่ายและชัดเจนขึ้น
ในบทสุดท้ายหรือ บทที่ ๕ ซึ่งเป็นบทสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ จะเป็นการนำเสนอบทสรุปซึ่งเป็นการย่นย่อข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญของทั้ง ๔ บท ได้แก่ วัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ผลการทดสอบสมมติฐาน ซึ่งเขียนสั้นๆ แต่อ่านได้ใจความ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ การอภิปรายผลการวิจัย ทั้งนี้หัวข้อนี้มักพบว่าสถานศึกษาบางแห่งเอาไปไว้ในท้ายบทที่๔ เนื่องจากเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับผลการวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผลมีสาระสำคัญที่ผู้วิจัยจำเป็นต้องกล่าวถึงไว้ก็คือ ๑.ผลการวิจัยมีความสอดคล้องเป็นไปตามแนวคิดและทฤษฎีหรือไม่อย่างไร ๒.ในขณะเดียวกันผลการวิจัยได้สอดคล้องหรือไม่อย่างไรกับงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืองานวิจัยที่ได้ทบทวนมาแล้วในบทที่ ๒ เพราะฉะนั้นการอภิปรายผลจึงถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ส่งผลให้งานวิจัยนั้นดูมีสีสันในด้านวิชาการไม่น้อย เพราะนอกจากอาจเป็นการทดสอบแนวคิดและทฤษฎีแล้ว ถ้าเป็นงานวิจัยในระดับสูงดังเช่นวิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาเอกอาจทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีใหม่ๆ ก็เป็นได้ ทั้งนี้ในส่วนสุดท้ายของงานวิจัยก็คือ ข้อเสนอแนะ ซึ่งอาจจำแนกออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่ ๑.ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป ซึ่งเป็นการแนะนำว่าผู้สนใจในการทำวิจัยเรื่องที่คล้ายคลึงนี้หรือใกล้เคียงกับงานวิจัยชิ้นนี้ ควรทำในประเด็นใดเพิ่มเติมที่งานวิจัยนี้ขาดตกบกพร่อง หรือไม่สามารถทำได้อย่างครบถ้วน หรืออาจนำเสนอประเด็นอื่นๆ ที่ต่อยอดความคิดให้กับงานวิจัยก็ได้ กับ ๒.ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย ซึ่งในประเด็นดังกล่าวเป็นการนำเสนอประเด็นหรือคำตอบจากงานวิจัยที่เป็นจุดอ่อนในปรากฏการณ์ที่ศึกษา เช่น พบว่าองค์กรมีข้อบกพร่องอย่างไร ผู้วิจัยก็สามารถเสนอแนะไว้ในช่วงนี้ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผลการศึกษาวิจัยมีคุณค่ายิ่งๆ ขึ้นไป 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานวิจัยต้องอาศัยทักษะทั้งที่เป็นศาสตร์และศิลป์มาเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษา แต่ก็ใช่ว่าการทำวิจัยจะเป็นเรื่องยากจนทำไม่ได้ เพราะหากลองพิจารณาจากประเด็นของความเชื่อมโยงของหัวข้อต่างๆ ในงานวิจัยจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องหันกลับมาทบทวนว่า อะไรจะเป็นเครื่องชี้นำทางหรือเข็มทิศต่อการแสวงหาคำตอบ แต่สำหรับผู้วิจัยแล้วนั้น การทบทวนแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการกำหนดกรอบการวิจัย หรือการหลงไปกับการกำหนดตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาที่ผิดทิศผิดทาง
การค้นหาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ได้อย่างใกล้เคียงจึงย่อมทำให้ผู้วิจัยสามารถลดความยุ่งยากในการทำวิจัยได้มาก เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องตระหนักอย่างยิ่งก็คือ การหันกลับไปยอมรับความเป็นจริงว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเบื่อเพราะสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ท่านทำวิจัยได้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมต่อไป

....................................................................................................................................

ที่มา: อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตและรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

.......................................





5 อันดับบทความยอดนิยม

Qualitative Research (การวิจัยเชิงคุณภาพ)

การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือ Qualitative Research      เป็นการวิจัยที่ "ต้องการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ สภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง" ซึ่งมีหัวใจหลักคือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์กับสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (Insight) จากภาพรวมที่มาจากหลากหลายมิติหรือมุมมอง       จึงทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Research) ที่มีวัตถุประสงค์ ที่หมายความถึงการที่ปล่อยให้ทุกๆอย่างคงอยู่ตามสภาพตามธรรมชาติโดยปราศจากการกระทำใดๆที่จะส่งกระทบต่อผลลัพธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเเละคลาดเคลื่อนได้ (Manipulate)       ทั้งนี้เนื่องจาก "การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม (Contextual) ที่ปรากฏการณ์ขึ้นในบางประการนั้นไม่สามารถที่จะทำการอธิบายด้วยเหตุผลแบบธรรมดาได้" นั่นจึงทำให้ การทำวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) นั้นผู้วิจัยต้องพยายามทำความเข้าใจใน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆรอบตัวเเละนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องการ      ทำให้ ลักษณะข้อมูลที่นำมาใช้ในการการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) นั้นต้องมีลัก

Quantitative Research (การวิจัยเชิงปริมาณ)

การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นวิธีค้นหาความรู้และความจริงเชิงข้อมูล/ตัวเลข มีลักษณะของการวิจัยที่ควบคุมตัวแปรที่ศึกษาเเละใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อทำข้อสรุปให้เกิดความคลาดเคลื่อน (Error) น้อยที่สุด (ศาสตราจารย์เกียรติคุณบุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ : 2549) วัตถุประสงค์   การวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative research) มีวัตถุประสงค์ที่จะพยายามให้คำอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยพยายามใช้แนวที่เรียกว่า ปฎิฐานนิยม (Positivism) การอธิบายปรากฎการณ์จึงเป็นการนำเสนอเชิงตัวเลข ทางสถิติ เช่น ร้อยละของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพึงพอใจ เป็นต้น ลักษณะของข้อมูล               การวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative research) เป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของสังคมโดยกำหนดตัวแปรต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลสถิติตัวเลข อาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ การเสนอภาพรวมจะมี ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย วิธีการเก็บข้อมูล การวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative research) จะเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจ เน้นการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมาก เพื่อทำการวิเคราะห์และทดสอบทฤษฎีห

Participatory Action Research: PAR (การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม)

“ Participatory Action Research: PAR  เป็นการลงพื้นที่วิจัยโดย กลุ่มบุคคลร่วมกันเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง ชุมชนเเละสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เห็นปัญหาเเละทางแก้ โดยการลงมือปฏิบัติด้วย ตัวเองจนเกิดองค์ความรู้ ส่วนคำว่า เชิงปฏิบัติการ หมายถึง การปฏิบัติงานในกิจกรรมการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการวิจัย และ คำว่า การมีส่วนร่วม หมายถึง การเข้าร่วมอย่างแข็งขันของกลุ่มบุคคลในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินกิจกรรมอย่างหนึ่ง.... Kerlinger ( 1988)   สรุปได้ว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ก็คือ การแสวงหาความรู้ ความจริงที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ตรวจสอบได้ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีกลุ่มบุคคลเข้ามาร่วมกันเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง ชุมชน สิ่งแวดล้อมให้เห็นปัญหาของตัวเองและเห็นทางแก้หรือทางออกจากปัญหาโดยลงมือปฏิบัติจริงได้ผลจริงแก้ปัญหาได้จริง ซึ่ง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ( PAR) คือ การวิจัย ค้นว้า และหาความรู้ตามหลักการของการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ต่างกันเพียงแต่ว่า PAR นั้นมีวัตถุประสงค์มุ่งไปที่การแก้ปัญหาในการพัฒนา และเป็นการวิจัยที่ดำเนินไปด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ร่

Research and Development หรือ การวิจัยและพัฒนา

เป็นการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพของมนุษย์ปัจจุบันองค์กรจำนวนมากส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาโดยเชื่อว่าช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ความหมาย และลักษณะของการวิจัยและพัฒนา การวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) เป็นลักษณะหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)ที่ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพงานหรือคุณภาพชีวิต การวิจัยและพัฒนาเป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยมีการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (หมายถึงสื่อ/สิ่งประดิษฐ์ หรือวิธีการ) แล้วมีการทดลองใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพในเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ นวัตกรรมที่นำมาทดลอง คือ ปฏิบัติการ (Treatment) หรือตัวแปรต้น โดยมี “ดัชนีชี้คุณภาพ” ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นตัวแปรตาม การวิจัยและพัฒนาจะให้ผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ลักษณะ 1) นวัตกรรมประเภทวัตถุที่เป็นชิ้นอัน ซึ่งอาจเป็นประเภท วัสดุ/อุปกรณ์/ชิ้นงาน เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ชุดการสอน สื่อการสอน ชุดกิจกรรม เสริมความรู้ คู่มือประกอบการทำงาน เป็นต้น 2) นวัตกรรมประเภทที่เป็นร

Survey Research หรือ การวิจัยเชิงสำรวจ

เป็นเทคนิคการวิจัยซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของประชากรเป็นวิธีการที่ใช้มากที่สุดในการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้แบบสอบถาม ผู้วิจัยจะต้องตัดสินใจแสดงถึงเทคนิคการออกแบบพื้นฐาน 4 ประการ ที่ใช้ใน การวิจัยเชิงพรรณนาและการวิจัยเชิงเหตุผล ดังวิธีการ ดังนี้ 1. การสำรวจ ( Survey) 2. การทดลอง ( Experiments) 3. การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ ( Secondary data study) หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ ( Historical data) 4. การสังเกต ( Observation techniques) การเขียนแบบสอบถามการกำหนดรายการของคำถามการออกแบบคำถามที่มีการจัดพิมพ์หรือเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นลักษณะของการพัฒนาการออกแบบงานวิจัยเชิงสำรวจการวิจัยเชิงสำรวจอาจใช้โทรศัพท์ จดหมาย หรือใช้บุคคลสัมภาษณ์ก็ได้ การทดลอง ( Experiments) การทดลองจะใช้มากในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล( Cause-and-effect relationships)   การทดลองเป็นการสำรวจการเปลี่ยนแปลงในตัวแปรหนึ่ง หรือหลายตัวแปรเพื่อวัดผลกระทบต่อตัวแปรตาม เช่น การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการออกจากงาน การขาดงานหรือการมาสาย การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ ( Secondary data study) หรือ ข้อมูลประวัติศาสต