ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Documentary Research - การวิจัยเอกสาร

          ความจริงประการหนึ่งของการค้นพบความจริงก็คือว่า มีวิธีหลากหลายวิธีที่จะทำให้มนุษย์สามารถที่เข้าใจปรากฏการณ์ของชีวิตและโลก  ซึ่งวิธีวิจัยก็เป็นวิธีการหนึ่งในนั้น  เราสามารถค้นพบความจริงจากการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามเมื่อเราต้องการค้นพบความจริง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการศึกษา  ครูภาษาไทยหลายคนเข้าใจว่า การค้นพบความจริงเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่จะพัฒนาการเรียนรู้และทักษะของภาษาได้ก็คือการทดลอง ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็เป็นหนึ่งในวิธีการศึกษาความจริง ซึ่งหากจะพิจารณาพื้นฐานของการทดลองแล้ว จะพบว่า เป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน  ด้วยเหตุนี้ ในเบื้องต้นเราสามารถที่จะค้นพบความจริงอันเป็นปรากฎการณ์ทางภาษาและวรรณคดีได้ไม่ยากนัก  จากการวิจัยเอกสาร(documentary resesrch) ซึ่งเป็นการวิจัยที่สามารถจะทำให้ได้ข้อค้นพบความจริงบางอย่าง ภายในระยะเวลาอันสั้น   
         ดังที่ทราบแล้วว่า  การวิจัยคือความพยายามที่จะแก้ปัญหา  เพื่อได้ข้อค้นพบที่เป็นองค์ความรู้ใหม่  ซึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาหรือกระบวนการวิจัยทั่วไป ก็อาจใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจ  การทดลอง  การลงพื้นที่ศึกษา การสนทนาหรือการสัมภาษณ์  ที่ผู้วิจัยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข้อมูลบุคคล  อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ใหม่มิได้เกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลจากบุคคล ดังที่ใช้อยู่ในการวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเท่านั้น      แต่ในเชิงมนุษยศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ ยังมีการวิจัยที่ผู้วิจัยสร้างปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มิใช้บุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกสารหรือข้อความที่เขียนขึ้นอีกด้วย     การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อความรู้ใหม่จากเอกสารต่างๆ ดังกล่าวนี้ เป็นที่มาของการวิจัยที่เรียกว่า “การวิจัยเอกสาร” (documentary  research)
1.  ความเป็นมาของการวิจัยเอกสาร
          การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยประเภทหนึ่งในการวิจัยเชิงบรรยาย  ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันว่า  มีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้สามารถทำได้ในหลายลักษณะ  อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้จะต้องสามารถตอบคำถามว่า สภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาวิธีการศึกษาข้อมูลที่นำมาใช้ใน    การวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสืบค้นข้อมูลเอกสาร การวิจัยเอกสารจึงเป็นสาขาหนึ่งของ  การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาอย่างกว้าง ๆ เพื่อสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงหรือลักษณะทั่ว ๆ ไปของสิ่งที่วิจัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทราบปัญหา อันจะเป็นแนวทางสำหรับแก้ปัญหาทั้งในปัจจุบันและอนาคต
          ลักษณะของการวิจัยเอกสารคือ การสำรวจสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารสิ่งพิมพ์ รวมทั้งข้อมูลในรูปแบบต่างๆ  ที่มีบุคคลอื่นได้บันทึกหรือตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ ซึ่งลักษณะของการค้นคว้าข้อมูลนี้ ได้มีผู้เรียนการวิจัยเอกสารว่าเป็น “การวิจัยห้องสมุด” (library research) เพราะนักวิจัยไม่ต้องลงพื้นที่สนามเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล  แต่จะไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งค้นคว้าซึ่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้อยู่แล้ว  โดยทั่วไป การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยที่มุ่งสำรวจข้อบกพร่องของเนื้อหา กิจกรรม โครงสร้างของหลักสูตร บทเรียน ตำรา กฎหมาย ระเบียบราชการหรือคำสั่ง เป็นต้น เพื่อช่วยในการปรับปรุงให้เหมาะสม  อีกทั้งยังทำให้ทราบแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
2.  ความหมายของการวิจัยเอกสาร
          การวิจัยเอกสารมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ไว้อยู่แล้ว  ด้วยเหตุนี้ การวิจัยเอกสารจึงเป็นการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ  (secondary data)  หลากหลายแหล่ง อย่างไรก็ตาม จากชื่อของการวิจัยเอกสาร อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลเฉพาะข้อมูลในรูปแบบเอกสารหรือสิ่งที่เขียนขึ้นโดยใช้ตัวอักษรเท่านั้น  แท้ที่จริงแล้ว การวิจัยเอกสาร หมายถึง  การแสวงหาคำตอบหรือการสร้างองค์ความรู้ด้วยการใช้หนังสือ  (text) และเอกสาร (document)  ต่างๆ  นอกจากนี้ ยังรวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์  วีดิทัศน์  ภาพวาด  สมุดบันทึก  ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Scott, 2006) ด้วยเหตุนี้  คำว่าเอกสารจึงมิได้หมายถึงเฉพาะสิ่งพิมพ์เท่านั้น  กล่าวโดยสรุป  ในทางการวิจัยถือว่า การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง (social research)  ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ  เอกสาร รายงานหรือสื่ออื่นๆ  แล้วเสนอผลการศึกษาในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้  ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร ผู้วิจัยสามารถใช้ทั้งวิธีเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  ส่วนใหญ่แล้ว การวิจัยเชิงเอกสารได้รับความนิยมมากในการศึกษาระดับโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัย  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเขียนในรูปแบบของรายงานการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ที่มีการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสารหรือสื่อต่างๆ อย่างหลากหลาย 
          การศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสารมีข้อที่ควรพิจารณา ซึ่งนักวิจัยควรกำหนดเป็นแนวทางในการวิจัยก็คือ เอกสารส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะเขียนชึ้นโดยบุคคลหรือคณะบุคคลก็ตาม ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเฉพาะสำหรับเอกสารชิ้นนั้น ตัวอย่างเช่น นวนิยาย ผู้เขียนก็ต้องแต่งขึ้นตามจินตนาการเพื่อนำเสนอสารบางอย่าง โดยมีจุดเน้นเพื่อสร้างความบันเทิงหรือให้ข้อคิด ดังนั้น การนำนวนิยายมาวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์สภาพสังคม ประวัติศาสตร์ ค่านิยมหรือความเชื่อบางอย่างในนวนิยาย เป็นการวิเคราะห์ทางอ้อม เพราะในนวนิยายอาจจะมิได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนนัก วัตถุประสงค์ของเอกสารที่นำมาศึกษากับวัตถุประสงค์ของการวิจัยจึงอาจจะไม่สอดคล้องกัน  ดังที่  Mogalakwe (2006: 222) ได้อธิบายในประเด็นนี้สรุปได้ว่า  เอกสารแต่ละฉบับนั้นเขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายหรือยู่บนสมมติฐานที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังนำเสนอในวิธีและรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกด้วย การนำข้อมูลจากเอกสารต่างๆ มาวิเคราะห์  นักวิจัยจึงต้องให้ความสำคัญ โดยจะต้องสนใจอย่างยิ่งต่อเป้าหมายที่แท้จริงของเอกสาร  รวมถึงผู้ที่เป็นผู้ใช้ข้อมูลจากเอกสารนั้นอย่างแท้จริงด้วย 
3.  ประเภทของแหล่งข้อมูลเอกสาร
           เอกสารที่นำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ใหม่นั้น       ตามความหมายของนักวิชาการดังที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามิได้หมายถึงแต่เฉพาะสื่อที่เป็นอักษรหรือเผยแพร่ด้วยการพิมพ์เท่านั้น  สื่อภาพเคลื่อนไหว สื่อเสียง สื่อภาพนิ่ง เหล่านี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการวิจัยเอกสารทั้งสิ้น  โดยทั่วไปนักวิชาการได้แบ่งประเภทของเอกสารไว้เป็นสองประเภท ได้แก่ เอกสารชั้นต้นและเอกสารชั้นรอง ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้  (Bailey, 1994: 194) 
                   1.  เอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิ  (primary  document)  เอกสารชั้นต้น หมายถึง เอกสารที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่เรียกว่า ประจักษ์พยาน  (eye-witness)  ที่อยู่ในเหตุการณ์ ณ ขณะที่เหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ตัวอย่างเช่น  บันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น  หรือบันทึกส่วนตัว (diary)         ที่ผู้เขียนแสดงความคิดและความรู้สึกของตนเองในบันทึกนั้น  ซึ่งหากจะศึกษาบุคคล นักวิจัยก็สามารถศึกษาได้จากบันทึกส่วนตัวของบุคคลที่ตนเองสนใจ เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษามากที่สุด
                   2.  เอกสารชั้นรองหรือเอกสารทุติยภูมิ (secondary document)  เอกสาร     ชั้นรอง หมายถึง เอกสารที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่มิได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง  ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่รับทราบข้อมูลจากประจักษ์พยาน  ด้วยการสนทนาหรือ   การบอกเล่าสืบต่อๆ กันมา  หรือได้เคยอ่านผลงานการเขียนของประจักษ์พยาน ข้อมูลจากเอกสารชั้นรองนี้จึงอาจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากกว่าเอกสารชั้นต้น 
          นอกจากเกณฑ์การแบ่งตามประสบการณ์หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของผู้เรียนแล้ว   เรายังสามารถแบ่งประเภทของเอกสารได้ตามแหล่งผลิตเอกสารฉบับนั้นๆ ด้วย กล่าวคือ แบ่งเป็น  เอกสารสาธารณะและเอกสารส่วนบุคคล ดังนี้
                   1.  เอกสารสาธารณะ (public document)  หมายถึง เอกสารที่เขียนและตีพิมพ์เผยแพร่โดยหน่วยงานสาธารณะ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูล นโยบาย แนวทาง หรือข้อความรู้ต่างๆ ตัวอย่างของเอกสารสาธารณะ เช่น  กฎหมายในรูปพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง รายงานประจำปี  หรือเอกสารที่แสดงค่าสถิติต่างๆ ที่ได้มีการวิเคราะห์ไว้  เอกสารสาธารณะเหล่านี้เป็นเอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นประจำตามวาระของหน่วยงานราชการ
                   2.  เอกสารส่วนบุคคล (personal document)  หมายถึง เอกสารที่มิได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ  ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลภายในของหน่วยงาน หรืออาจจะเป็นข้อมูลที่บุคคลเขียนขึ้นจากบันทึกส่วนตัว  จดหมายเตือนความจำ  หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในลักษณะอื่นๆ  เช่น  ภาพถ่าย  บันทึกทางการแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพ  บันทึกประจำวัน  จดหมายส่วนบุคคล 
4.  เกณฑ์ในการเลือกเอกสาร
          ข้อมูลในการวิจัยเอกสารทั้งหมดย่อมได้มาจากการศึกษาจากสื่อเอกสารในลักษณะต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย ด้วยเหตุนี้ การคัดเลือกเอกสารเพื่อนำมาวิเคราะห์จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในการวิจัยย่อมมีมาก อีกทั้งเอกสารบางชนิดยังมีความซับซ้อนของข้อมูล ผู้วิจัยย่อมไม่อาจที่จะศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ครบทุกชิ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกเอกสารมาใช้ในการวิจัย ซึ่งเกณฑ์ที่สำคัญประกอบด้วย  1)  ความจริง  2)  ความถูกต้องน่าเชื่อถือ  3)  การเป็นตัวแทน และ 4)  ความหมาย ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆ สรุปได้ดังนี้  (Scott, 1990: 1-2)
                   1.  ความจริง (authenticity)  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารที่เป็นเอกสารที่แท้จริง (origin)  ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การพิจารณาว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลแท้จริงหรือไม่  จะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนหรือหน่วยงานที่เขียนเอกสารว่ามีความน่าเชื่อถือถือไม่ อย่างไร  รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนั้น สอดคล้องกับข้อมูลในบริบทอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาที่มีการเขียนเอกสารนั้นอย่างไร   
                   2. ความถูกต้องน่าเชื่อถือ  (credibility)  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารด้วยการพิจารณาว่า  เอกสารนั้นจะต้องไม่มีข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เอกสารจำพวกหนังสือพิมพ์หรือบทวิจารณ์ต่างๆ เพราะเป็นการเขียนข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองประกอบเข้าไปด้วย ข้อคิดเห็นเหล่านี้ หากผู้วิจัยมิได้สนใจศึกษา อาจจะทำมีอิทธิพลที่ทำให้ข้อมูลโดยภาพรวมเกิดการบิดเบือนไป 
                   3.  การเป็นตัวแทน (representativeness)  ในการคัดเลือกเอกสาร ผู้วิจัยจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า  เอกสารดังกล่าวมีความเป็นตัวแทนหรือไม่ ในที่นี้ การเป็นตัวแทนมีหลายระดับ  ระดับแรก  หมายถึง  การที่เอกสารนั้นสามารถใช้แทนหรือเป็นแบบฉบับที่แทนเอกสารประเภทเดียวกันได้หรือไม่  และระดับที่สองคือ ข้อมูลในเอกสารที่จะนำมาวิเคราะห์นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรได้  ตัวอย่างเช่น รายงานการวิจัยที่ได้มีการสุ่มตามวิธีวิทยาการวิจัย และใช้สถิติวิเคราะห์ที่ถูกต้อง ย่อมถือว่าข้อมูลหรือผลที่เสนอในงานวิจัยนั้นเป็นตัวแทนข้อมูล ที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อได้  
                   4. ความหมาย  (meaning)  การใช้เกณฑ์ความหมาย หมายถึง การคัดเลือกเอกสารที่มีความชัดเจนและสามารถที่จะเข้าใจได้ง่าย  ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้น ด้วยการพิจารณาข้อมูลคร่าวๆ ว่า เอกสารที่นำมาพิจารณานั้น มีข้อมูลใดที่เป็นนัยสำคัญหรือจะสร้างความหมายให้กับการวิจัยหรือไม่  การตีความเอกสารบางประเภท      จึงสามารถที่จะตีความทั้งในระดับที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือการสรุปสาระสำคัญที่ปรากฏ      อีกระดับหนึ่งคือ การตีความข้อมูลที่เป็นนัยที่ซ่อนแฝงอยู่  การตีความนัยค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ตีความ 
          นอกจากการวิจัยเชิงเอกสารจะได้มีการนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อหาจุดบกพร่องหรือข้อควรปรับปรุงแก่นโยบายหรือโครงการต่างๆ แล้ว  การวิจัยเชิงเอกสาร ยังเป็นการวิจัยที่ได้รับความนิยมในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับความคิด ทรรศนะและค่านิยมของบุคคล ซึ่งปรากฏในงานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางอักษรศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี    อีกด้วย  ข้อดีของการวิจัยเชิงเอกสารคือ มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือทรัพยากรในการวิจัยมาก ประหยัดเวลา และสามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับเอกสารสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลครบถ้วน อย่างไรก็ตาม การวิจัยเชิงเอกสารย่อมมีข้อจำกัดอันเนื่องมาจากธรรมชาติของการวิจัยเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องอาศัยการตีความ ทั้งนี้เพราะการตีความเป็นพฤติกรรมทางสติปัญญา  ที่ค่อนข้างเป็นอัตวิสัย (subjective)  กล่าวคือ  ผู้วิจัยจะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาภายใต้กรอบความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง ซึ่งผลของการตีความนั้นอาจจะไม่ตรงกับการตีความที่แท้จริง      ก็เป็นได้  อีกทั้งความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ ก็เป็นตัวแปรสำคัญ  ที่ทำให้การวิจัยเชิงเอกสารมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้วิจัยไม่ได้คำตอบของปัญหาตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้   
________________________________

 รายการอ้างอิง
Mogalakwe, M.  2006.  The use of documentary research methods in social research.
          African sociological review. 10 (1): p. 221-230.
Scott, J.  1990.  A matter of record: Documentary sources in social research. Polity press:       Cambridge.
Scott, J. 2006.  Documentary research.  London: Sage. 

5 อันดับบทความยอดนิยม

Qualitative Research (การวิจัยเชิงคุณภาพ)

การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือ Qualitative Research      เป็นการวิจัยที่ "ต้องการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ สภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง" ซึ่งมีหัวใจหลักคือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์กับสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (Insight) จากภาพรวมที่มาจากหลากหลายมิติหรือมุมมอง       จึงทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Research) ที่มีวัตถุประสงค์ ที่หมายความถึงการที่ปล่อยให้ทุกๆอย่างคงอยู่ตามสภาพตามธรรมชาติโดยปราศจากการกระทำใดๆที่จะส่งกระทบต่อผลลัพธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเเละคลาดเคลื่อนได้ (Manipulate)       ทั้งนี้เนื่องจาก "การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม (Contextual) ที่ปรากฏการณ์ขึ้นในบางประการนั้นไม่สามารถที่จะทำการอธิบายด้วยเหตุผลแบบธรรมดาได้" นั่นจึงทำให้ การทำวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) นั้นผู้วิจัยต้องพยายามทำความเข้าใจใน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆรอบตัวเเละนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องการ      ทำให้ ลักษณะข้อมูลที่นำมาใช้ในการการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) นั้นต้องมีลัก

Quantitative Research (การวิจัยเชิงปริมาณ)

การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นวิธีค้นหาความรู้และความจริงเชิงข้อมูล/ตัวเลข มีลักษณะของการวิจัยที่ควบคุมตัวแปรที่ศึกษาเเละใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อทำข้อสรุปให้เกิดความคลาดเคลื่อน (Error) น้อยที่สุด (ศาสตราจารย์เกียรติคุณบุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ : 2549) วัตถุประสงค์   การวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative research) มีวัตถุประสงค์ที่จะพยายามให้คำอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยพยายามใช้แนวที่เรียกว่า ปฎิฐานนิยม (Positivism) การอธิบายปรากฎการณ์จึงเป็นการนำเสนอเชิงตัวเลข ทางสถิติ เช่น ร้อยละของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพึงพอใจ เป็นต้น ลักษณะของข้อมูล               การวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative research) เป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของสังคมโดยกำหนดตัวแปรต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลสถิติตัวเลข อาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ การเสนอภาพรวมจะมี ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย วิธีการเก็บข้อมูล การวิจัยเชิงปริมาณ ( Quantitative research) จะเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจ เน้นการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมาก เพื่อทำการวิเคราะห์และทดสอบทฤษฎีห

Participatory Action Research: PAR (การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม)

“ Participatory Action Research: PAR  เป็นการลงพื้นที่วิจัยโดย กลุ่มบุคคลร่วมกันเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง ชุมชนเเละสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เห็นปัญหาเเละทางแก้ โดยการลงมือปฏิบัติด้วย ตัวเองจนเกิดองค์ความรู้ ส่วนคำว่า เชิงปฏิบัติการ หมายถึง การปฏิบัติงานในกิจกรรมการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการวิจัย และ คำว่า การมีส่วนร่วม หมายถึง การเข้าร่วมอย่างแข็งขันของกลุ่มบุคคลในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินกิจกรรมอย่างหนึ่ง.... Kerlinger ( 1988)   สรุปได้ว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ก็คือ การแสวงหาความรู้ ความจริงที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ตรวจสอบได้ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีกลุ่มบุคคลเข้ามาร่วมกันเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง ชุมชน สิ่งแวดล้อมให้เห็นปัญหาของตัวเองและเห็นทางแก้หรือทางออกจากปัญหาโดยลงมือปฏิบัติจริงได้ผลจริงแก้ปัญหาได้จริง ซึ่ง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ( PAR) คือ การวิจัย ค้นว้า และหาความรู้ตามหลักการของการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ต่างกันเพียงแต่ว่า PAR นั้นมีวัตถุประสงค์มุ่งไปที่การแก้ปัญหาในการพัฒนา และเป็นการวิจัยที่ดำเนินไปด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ร่

Research and Development หรือ การวิจัยและพัฒนา

เป็นการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพของมนุษย์ปัจจุบันองค์กรจำนวนมากส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาโดยเชื่อว่าช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ความหมาย และลักษณะของการวิจัยและพัฒนา การวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) เป็นลักษณะหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)ที่ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพงานหรือคุณภาพชีวิต การวิจัยและพัฒนาเป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยมีการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (หมายถึงสื่อ/สิ่งประดิษฐ์ หรือวิธีการ) แล้วมีการทดลองใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพในเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ นวัตกรรมที่นำมาทดลอง คือ ปฏิบัติการ (Treatment) หรือตัวแปรต้น โดยมี “ดัชนีชี้คุณภาพ” ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นตัวแปรตาม การวิจัยและพัฒนาจะให้ผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ลักษณะ 1) นวัตกรรมประเภทวัตถุที่เป็นชิ้นอัน ซึ่งอาจเป็นประเภท วัสดุ/อุปกรณ์/ชิ้นงาน เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ชุดการสอน สื่อการสอน ชุดกิจกรรม เสริมความรู้ คู่มือประกอบการทำงาน เป็นต้น 2) นวัตกรรมประเภทที่เป็นร

Survey Research หรือ การวิจัยเชิงสำรวจ

เป็นเทคนิคการวิจัยซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของประชากรเป็นวิธีการที่ใช้มากที่สุดในการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้แบบสอบถาม ผู้วิจัยจะต้องตัดสินใจแสดงถึงเทคนิคการออกแบบพื้นฐาน 4 ประการ ที่ใช้ใน การวิจัยเชิงพรรณนาและการวิจัยเชิงเหตุผล ดังวิธีการ ดังนี้ 1. การสำรวจ ( Survey) 2. การทดลอง ( Experiments) 3. การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ ( Secondary data study) หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ ( Historical data) 4. การสังเกต ( Observation techniques) การเขียนแบบสอบถามการกำหนดรายการของคำถามการออกแบบคำถามที่มีการจัดพิมพ์หรือเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นลักษณะของการพัฒนาการออกแบบงานวิจัยเชิงสำรวจการวิจัยเชิงสำรวจอาจใช้โทรศัพท์ จดหมาย หรือใช้บุคคลสัมภาษณ์ก็ได้ การทดลอง ( Experiments) การทดลองจะใช้มากในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล( Cause-and-effect relationships)   การทดลองเป็นการสำรวจการเปลี่ยนแปลงในตัวแปรหนึ่ง หรือหลายตัวแปรเพื่อวัดผลกระทบต่อตัวแปรตาม เช่น การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการออกจากงาน การขาดงานหรือการมาสาย การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ ( Secondary data study) หรือ ข้อมูลประวัติศาสต