ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001
บริษัทต่างๆทุกวันนี้มีหน้าที่จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมทั้งภายในชุมชนของท่านและทั่วโลกโดยการจัดทำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจ ทุกวันนี้ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นระบบซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับนานาชาติ โดยระบบมาตรฐาน ISO 14001 มีการกำหนดโครงสร้างขององค์กรและความรับผิดชอบที่มีความจำเป็นในการบริหารจัดการให้บรรลุตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท นอกจากนี้ระบบ ISO 14001 จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับสูงและต้องมีการนำไปปฏิบัติในทุกระดับขององค์กร
ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับรองระบบมาตรฐาน ISO 14001 มีดังนี้
- การจัดการในเรื่องเกี่บวกับ “Liability” ที่ดีขึ้นและลดรายจ่ายที่ใช้ในการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม
- ลดต้นทุนการดำเนินการเนื่องมาจากการลดของเสียและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น
- เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลก
- ปรับปรุงภาพลักษ์ของบริษัทและเพิ่มยอดขาย
- เป็นไปตามความคาดหวังด้านสิ่งแวดล้อม
- ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น
- เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน
- มีการประเมินความเสี่ยงที่ใกล้เคียงความจริง
องค์ประกอบของระบบ ISO 14001
- นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
- การวางแผน
- การดำเนินการ
- ตรวจสอบ และ แก้ไข
- รายงานผลการดำเนินการ
ภาพรวมของการตรวจประเมินระบบมาตรฐาน ISO 14001 ระยะที่ 1 และระยะที่ 2
ระยะที่ 1 – การตรวจสอบทางด้านเทคนิค รวมทั้งการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการ
การตรวจสอบทางเทคนิคมีจุดประสงค์เพื่อให้กิจกรรมในหน่วยงานนั้นๆตรงตามเป้าหมาย ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จะถูกประเมินและตรวจสอบ
1. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
2. การตัดสินใจขององค์กรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
3. ภาพรวมของระเบียบข้อบังคับต่างๆ
4. คู่มือและระเบียบการของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
5. ขอบเขตของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
6. ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ
7. การกำหนดเทคนิคที่สำคัญต่างๆ
8. การพิจารณาเหล่านี้จะต้องทำที่สถานที่จริง หากไม่ได้ทำ ณ สถานที่นั้นการตรวจรับรองจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งการเข้าไปตรวจสอบทางด้านเทคนิคจะมีการดำเนินการในระหว่าง 6 สัปดาห์ ถึง 6 เดือนก่อนการตรวจรับรอง
ระยะที่ 2 – การตรวจรับรองระบบ
การตรวจรับรองนี้จะรวมถึงการพิจารณาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับระบบ ISO 14001 และกระบวนการดำเนินการในแต่ละองค์กร ซึ่งการตรวจสอบนี้ทำขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ ลูกค้าจะได้รับการแจ้งผลการตรวจสอบในการประชุมครั้งสุดท้ายและในระหว่างการสรุปการประชุม ลูกค้าจะต้องแสดงรายงานการตรวจสอบและแสดงผลและความคลาดเคลื่อนซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ การสิ้นสุดการตรวจสอบจะต้องไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หรือหากมีเล็กน้อยก็จะได้รับคำแนะนำจากผู้ตรวจสอบ
ข้อกำหนดทั่วไปของ ISO 14001
สรุปประเด็นสำคัญ
กรอบของ ISO 14001
หลักการของ ISO 14001 คือการปรับปรุงที่ต่อเนื่องกันไป เริ่มจากการวางระบบการจัดการและการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ไปสู่การใช้ระบบการจัดการ การตรวจสอบประสิทธิผลของระบบและแก้ไขจุดบกพร่อง จากนั้นเป็นการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของระบบเป็นระยะ ๆ โดยผู้บริหารและนำไปสู่การปรับเป้าหมายใหม่เพื่อเริ่มวงจรใหม่ของการวางแผน ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเป็นกลไกที่เชื่อมต่อกัน แต่ก็ต้องมีการขยายให้เติบโตและปรับให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมได้ด้วย ระบบจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนและทรัพยากรที่จะใช้ในระบบ
ISO 14001 ประกอบด้วย 17 องค์ประกอบที่ขึ้นต่อกันและกันใน ISO14001 ไม่มีส่วนที่ให้เลือกได้ ทุกอย่างมีความสำคัญเท่ากัน ส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นลำดับ ดังนี้
· นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
· การวางแผน
- ประเด็นทางสิ่งแวดล้อม
- ข้อกำหนดทางกฎหมาย
- วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
- แผนงานการจัดการสิ่งแวดล้อม
· การนำไปปฏิบัติและดำเนินการ
- โครงสร้างและหน้าที่
- การอบรม การสร้างจิตสำนึกและความสามารถ
- การสื่อสาร
- การจัดทำเอกสารระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
- การควบคุมเอกสาร
- การควบคุมการดำเนินงาน
- การเตรียมพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน
· การตรวจสอบและแก้ไข
- การติดตามและวัดผล
- การแก้ไขข้อผิดพลาด
- การบันทึกผล
- การตรวจติดตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
· การพิจารณาทบทวน
มุมมองเกี่ยวกับ ISO 14001
จากความตั้งใจที่ดีเป็นจะเริ่มต้นไปจนถึงผลงานที่เห็นได้จนจดทะเบียน ISO 14001 ได้สำเร็จนั้นไม่ใช่งานที่ยากมากเกินไป แต่ต้องมีความมุ่งมั่น มีแนวทางชี้นำ และที่สำคัญคือต้องถือเป็นพันธกรณีที่ต้องทำให้ลุล่วง
สิ่งแรกที่ต้องทำคือการระบุปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ออกเกิดจากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทเสียก่อน ต่อไปจึงจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน ขั้นตอนต่อไปเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมโดยต้องครอบคลุมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญสูงสุดตามที่จัดลำดับไว้แล้วและต้องคำนึงถึงความเห็นของกลุ่มผู้สนใจ (เช่น ชุมชน รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ) จากนั้นจึงจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในการดำเนินการขององค์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามหลักการของมาตรฐาน ISO 14001 ส่วนการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารสูงสุดจะต้องทำความเข้าใจกับพนักงานในเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ นโยบายควรต้องเหมาะสมกับวัฒนธรรม ปรัชญา และค่านิยมขององค์กรด้วย
ที่กล่าวมานี้คือช่วงของการวางแผนสำหรับ ISO 14001 การนำแผนนี้ไปปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 14001 คือขั้นตอนต่อไปในการนี้จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนสำหรับทุกคนว่ามีบทบาทหน้าที่อย่างไร และจะต้องมีตัวแทนของฝ่ายจัดการสิ่งแวดล้อมเป็น ผู้ประสานงานกับฝ่ายบริหารสูงสุดมีการหาความจำเป็นที่จะต้องจัดฝึกอบรม มีการอบรม มีการสร้างช่องทางสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร และมีการจัดทำเอกสารบันทึกสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว
ขั้นตอนท้ายสุดของระยะเริ่มนำแผนสู่การปฏิบัติก็คือ การวางระบบควบคุมเพื่อป้องกันมลพิษซึ่งอาจเป็นการควบคุมด้านเทคนิค หรือด้านขั้นตอนการดำเนินงานและมีแผนเตรียมพร้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
เมื่อเริ่มใช้ระบบการจัดการตามมาตรฐาน ISO 14001 แล้วก็จะต้องมีการตรวจวัดผลและการแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามตรวจวัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และบันทึกผลไว้พร้อมทั้งมีการแก้ไขและการป้องกันโดยเร็ว การตรวจสอบนี้เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 14001
สุดท้ายผู้บริหารระดับสูงต้องนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาทบทวนหาจุดอ่อนอยู่เสมอ จะต้องมีการพิจารณารายงานผลการประเมินระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เสนอโดยฝ่ายจัดการสิ่งแวดล้อมและผู้บริหารอาจเปลี่ยนแปลงจุดเน้นและลำดับความสำคัญของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมหากเห็นว่าจำเป็น โดยต้องจัดหาทรัพยากรให้พอเพียงสำหรับดำเนินการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย
ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสามารถเสริมกันได้กับระบบควบคุมคุณภาพ ระบบการเงิน และการวางแผนธุรกิจในระดับยุทธศาสตร์ ISO14001 มีเจตนาจะให้องค์กรจัดความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเท่ากันกับฝ่ายอื่น ๆ การให้มาตรฐาน ISO 14001 อาจใช้กันทั้งบริษัท หรือสำหรับเครื่องอุปกรณ์หนึ่งอย่างหรือสำหรับบริเวณปฏิบัติการหนึ่งแห่งก็ได้ แต่จะต้องมีลักษณะเป็นหน่วยงานหนึ่งด้วยตัวของมันเอง
การประเมินสภาพระบบการจัดการที่มีอยู่
ทุกองค์กรจะต้องมีส่วนที่เป็นกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างไม่ว่าองค์กรนั้นจะล้าหลังแค่ไหนก็ตาม จุดแรกก่อนลงมือวางแผนสำหรับ ISO 14001 จึงควรทบทวนดูว่าองค์กรมีอะไร อยู่แล้วบ้างที่เกี่ยวกับงานด้านสิ่งแวดล้อมการทบทวน ณ จุดเริ่มต้นนี้มีแนวทางแนะนำไว้ในเอกสาร ISO 14001 เรื่องหลักการระบบ และการสนับสนุนทางเทคนิคโดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ตรวจสอบข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมโดยตรงและเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กฎหมายด้านทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ การขนส่ง การขนส่งทางเรือชายฝั่งทะเล สุขภาพ และอื่น ๆ
2. ประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรว่าเป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ข้อบัญญัติและแนวปฏิบัติอื่น ๆ (แม้จะไม่เป็นกฎหมาย) หรือไม่ และดูด้วยว่าเป็นไปตามนโยบายและขั้นตอนปฏิบัติขององค์กรนั้นหรือไม่
3. พิจารณาว่ากิจกรรมใดขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์หรือบริการใดอาจจะส่งผลด้านสิ่งแวดล้อมหรืออาจทำให้ผิดกฎหมาย
4. พิจารณานโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกองค์กร เช่น ผู้ให้บริการ ผู้รับเหมา ผู้จัดส่งสินค้าหรือวัสดุให้องค์กร เพื่อดูว่ามีสิ่งใดที่อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้องค์กรได้
5. ประเมินแนวโน้มการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือข้อผิดพลาดที่เกือบจะเกิดขึ้น เพื่อดูว่ามีการตรวจสอบสาเหตุอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ มีมาตรการแก้ไขและป้องกันอย่างได้ผลหรือไม่
6. สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มสนใจ เช่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร
7. ประเมินดูว่าระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป้นตัวช่วยหรือเป็นตัวอุปสรรคต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
8. วิเคราะห์หาช่องว่างระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่นันยังห่างไกลจากระบบตามมาตรฐาน ISO 14001 อย่างไรบ้าง
9. กำหนดระดับผลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่อยากเห็น โดยดูตัวอย่างที่ดีที่สุดจากองค์กรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในธุรกิจเดียวกันหรือต่างกันก็ตาม
10. จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อปิดช่องว่างที่ยังห่างจาก ISO 14001 กำหนดกรอบเวลา ความรับผิดชอบ ทรัพยากรที่ต้องใช้ และการให้รางวัลต่อความสำเร็จ
ข้อเท็จจริงที่สำคัญของ ISO 14001
· การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องคือหัวใจของ ISO 14001 ที่หมายถึงการป้องกันการเกิดผลพิษ (ตรงข้ามกับการแก้ไขหลังจากเกิดภาวะมลพิษแล้ว)
· ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำด้วยการเป็นตัวอย่างในการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติภายใต้มาตรฐาน ISO14001 เพียงแค่การพูดหรือเร่งรัดนั้นนับว่ายังไม่พอ ผู้บริหารจะต้องร่วมลงมือปฏิบัติด้วย
· ความสำเร็จของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของทุกคน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมคนให้เกิดจิตสำนึก ให้การอบรม สร้างทักษะและความรู้ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้ผล
· ทุกองค์ประกอบของ ISO 14001 ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น หากองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป หรือไม่ได้ตามมาตรฐาน ก็เปรียบเหมือนเรือท้องรั่วที่ต้องจมลงในที่สุด
· เมื่อมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 แล้ว ถือว่านั่นคือจุดเริ่มต้นเท่านั้น จากนั้นจะต้องปรับปรุงต่อไปโดยไม่หยุดนิ่ง
สรุปประเด็นสำคัญ
· วัฏจักรของ ISO 14001 ประกอบด้วย การวางนโยบาย การวางแผน การปฏิบัติตามแผน การตรวจประเมินผล การแก้ไขปรับปรุง และการทบทวนระบบ เป็นเช่นนี้ตลอดไปไม่หยุด
· ทุกส่วนของ ISO 14001 ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น
· แนวทางสำคัญของ ISO 14001 คือ
- ป้องกันการเกิดมลพิษ
- ทุกคนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบ
- ผู้บริหารระดับสูงต้องทำเป็นตัวอย่าง
· ควรเริ่มต้นด้วยการสำรวจดูสถานภาพของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ และเปรียบเทียบกับข้อกำหนดของ ISO 14001
.......................................