ISO ย่อมาจากคำว่า "International Organization for Standardization" (องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน) เป็นองค์กรสากลทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดหรือปรับมาตรฐานนานาชาติเกือยทุกชนิดประเภท(ยกเว้นด้านไฟฟ้า เป็นหน้าที่ของ IEC) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกสามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้
ISO 9000 คือ มาตรฐานสากลสำหรับระบบบริหารงานคุณภาพอันเกี่ยวกับการจัดการทางด้านคุณภาพและการประกันคุณภาพ เป็นระบบบริหารประกันคุณภาพขั้นพื้นฐานที่มีความมุ่งหมายที่จะให้ระบบคุณภาพเท่าเทียมกันระหว่างองค์กรต่างๆและประเทศต่างๆ
ประโยชน์จากการนำระบบคุณภาพ ISO 9000 มาใช้สามารถพัฒนาบุคลากร พัฒนาที่ทำงานและเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารภายในองค์ สามารถลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการผลิตตลอดจนความสูญเสียต่างๆอันเกิดจากการผลิต ทั้งนี้เพราะระบบคุณภาพISO 9000 สร้างจิตสำนึกในการทำงานให้กับพนักงาน มีการทำงานที่มีระบบ มีแนวปฏิบัติชัดเจน สามารถควบคุมตรวจสอบได้ง่ายขึ้นและที่สำคัญคือสามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร นับเป็นประกาศเกียรติคุณอีกทางหนึ่งด้วย
อนุกรมของมาตรฐาน ISO 9000 ประกอบด้วย
- ISO 9000 :2005 ระบบบริหารงานคุณภาพ : หลักการพื้นฐานและคำศัพท์
- ISO 9001:2008 ระบบบริหารงานคุณภาพ : ข้อกำหนด
- ISO 9004:2009 ระบบบริหารงานคุณภาพ : แนวทางสำหรับปรับปรุงสมรรถนะ
ISO 9001:2008 ระบบบริหารงานคุณภาพ : ข้อกำหนด เป็นหัวใจสำคัญของระบบ เพราะจะต้องนำไปปฏิบัติและนำไปพิจารณาเพื่อตรวจประเมิน
โครงสร้างของมาตรฐานISO 9001:2008 มีโครงสร้างพื้นฐาน สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องวงจรการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง คือ P-D-C-A
P=Plan = วางแผน
D=Do = ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
C=Check = ตรวจสอบ
A=Action = ปรับปรุง,แก้ไข
หลักการที่จะทำให้การบริหารงานระบบคุณภาพประสบผลสำเร็จ คือ หลักการบริหารงานคุณภาพ 8 ประการ
หลักการที่ 1 : องค์กรที่ให้ความสำคัญแก่ลูกค้า
องค์กรต้องพึ่งพิงลูกค้าเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในส่วนปัจจุบันและอนาคต และทำให้บรรลุความต้องการเหล่านั้น รวมถึงการพยายามที่จะทำให้ได้เกินความคาดหวังของลูกค้า
หลักการที่ 2 : ความเป็นผู้นำ
ผู้นำเป็นผู้กำหนดความเป็นเอกภาพของวัตถุประสงค์และทิศทางขององค์กร ผู้นำต้องเป็นผู้สร้างและธำรงไว้ซึ่งปัจจัยเกื้อหนุนภายในที่สนับสนุนให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและส่งเสริมการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรด้วย
หลักการที่ 3: การมีส่วนร่วมของบุคลากร
พนักงานทุกระดับถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรและการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และเต็มความสามารถของพนักงานทุกคน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร
หลักการที่ 4: การบริหารเชิงกระบวนการ
ผลลัพท์ที่ต้องการสามารถบรรลุได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อทรัพยากรและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นกระบวนการ
หลักการที่ 5: การบริหารเป็นระบบ
การบ่งชี้ การทำความเข้าใจ และการบริหารการจัดการในเชิงระบบที่ประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันเพื่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร
หลักการที่ 6: การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องควรได้รับการกำหนดให้เป็นวัตถุประสงค์ถาวรขององค์กร
หลักการที่ 7: การตัดสินจากข้อมูลที่เป็นจริง
การตัดสินใจที่ทรงประสิทธิภาพ ควรดำเนินการบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ
หลักการที่ 8: ควาสัมพันธ์กับผู้ขายเพื่อประโยชน์ร่วม
องค์กรและผู้ส่งมอบต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและการมีความสัมพันธ์ในเชิงผู้เกื้อกูลผลประโยชน์จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการสร้างคุณค่าของทั้งสองฝ่าย